ประเด็นท้าทาย เรื่อง การพัฒนาทักษะการคิดแก้ปัญหาด้วยเหตุผลเชิงตรรกะ วิชาวิทยาการคำนวณ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ด้วยการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning โดยใช้แบบฝึก Unplug Coding
ประเด็นท้าทาย เรื่อง การพัฒนาทักษะการคิดแก้ปัญหาด้วยเหตุผลเชิงตรรกะ วิชาวิทยาการคำนวณ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ด้วยการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning โดยใช้แบบฝึก Unplug Coding
1. สภาพปัญหาของผู้เรียนและการจัดการเรียนรู้
เนื่องด้วยรายวิชาวิทยาการคำนวณเป็นวิชาที่ค่อนข้างใหม่สำหรับผู้เรียน ด้วยกระบวนการเรียนรู้ของสาระวิชาเน้นไปที่กระบวนการแก้ปัญหาเชิงตรรกะ การออกแบบการแก้ปัญหาและกระบวนการด้านเทคโนโลยี เป็นเรื่องที่ผู้เรียนต้องใช้ประสบการณ์ในการเรียนมากกว่าการสอนในหนังสือ การให้ทำแบบฝึกหัดในรูปแบบการเขียนบรรยาย หรือการท่องจำ ทำให้ผู้เรียนไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาในหลายตัวชี้วัดของหลักสูตรได้
จากการจัดการเรียนการสอนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ปัญหาที่พบคือ ผู้เรียนยึดติดกับการเรียนแบบท่องจำ และไม่สามารถออกแบบหรือเรียงลำดับขั้นตอนการแก้ปัญหาในหลายๆเรื่องได้ จึงส่งผลให้การจัดการเรียนรู้ต่อผู้เรียนยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
ดังนั้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาทักษะด้านวิทยาการคำนวณที่ดีขึ้น ครูผู้สอนจึงออกแบบการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning โดยใช้ชุดฝึก Unplug Coding ที่หลากหลาย เข้ามาช่วยในการจัดการเรียนรู้และให้ผู้เรียนฝึกกระบวนการคิด แก้ปัญหา และเข้าใจเนื้อหาที่เรียนมากขึ้น
2. วิธีการดำเนินการให้บรรลุผล
1) ศึกษาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานแกนกลาง และหลักสูตรสถานศึกษา กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รายวิชาวิทยาการคำนวณ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เพื่อออกแบบหน่วยการเรียนรู้ตามตัวชี้วัด
2) ศึกษาการจัดการเรียนรู้โดยใช้สื่อ แบบฝึก Unplug Coding สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
3) ใช้กระบวนการ PLC เข้ามาช่วยในการแก้ไขปัญหา พัฒนาสื่อและนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ
4) ออกแบบสื่อ แบบฝึก Unplug Coding ในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น บัตรคำสั่ง บัตรโปรแกรม ฯลฯ
5) จัดทำสื่อการเรียนรู้ แบบฝึก Unplug Coding ตามที่ได้ออกแบบไว้
6) นำสื่อไปทดลองใช้และนำผลที่ได้มาปรับปรุง พัฒนาสื่อแบบฝึก Unplug Coding ให้มีความน่าสนใจ
เข้าใจง่าย และนักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง
7) นำผลสะท้อนในการใช้สื่อแบบฝึก Unplug Coding บันทึกข้อมูลคะแนนในระบบสารสนเทศผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเพื่อประเมินการเรียนรู้ นำข้อมูลที่ได้พัฒนาผลการเรียนรู้ให้ผู้เรียนบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
3. ผลลัพธ์การพัฒนาที่คาดหวัง
3.1 เชิงปริมาณ
- นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบ้านเชียงคาน “วิจิตรวิทยา” ร้อยละ 80 มีผลการพัฒนาทักษะการคิดแก้ปัญหาเชิงตรรกะที่สูงขึ้น
3.2 เชิงคุณภาพ
- นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ โรงเรียนบ้านเชียงคาน “วิจิตรวิทยา” ร้อยละ 80 สามารถออกแบบหรือเรียงลำดับขั้นตอนการแก้ปัญหาได้ มีกระบวนการคิดแก้ปัญหาเชิงตรรกะ ตรงตามสมรรถนะของผู้เรียนในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560)